กระบวนการ (Process)
การเกษตร/อุปกรณ์ทางการเกษตร
-
เทคโนโลยีการปลูกข้าวโดยวิธีการโยนกล้าอย่างแม่นยำ ดำเนินการวิจัยโดยกรมการข้าว เพื่อปรับใช้เทคโนโลยีการปลูกข้าวบนพื้นที่สูง โดยนำวิธีการโยนกล้าอย่างแม่นยำเปรียบเทียบกับการปลูกโดยวิธีปักดำซึ่งเป็นวิธีปลูกดั้งเดิมของเกษตรกรที่ใช้ในพื้นที่ นอกจากนั้นได้ทดสอบหาวัสดุเพาะกล้าสำหรับโยนกล้าที่เหมาะสมในพื้นที่ ดำเนินการที่บ้านนากอก ตำบลภูฟ้า อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน ใช้พันธุ์ข้าวเหนียวสันป่าตอง 1 ผลการศึกษาพบว่า การปลูกโดยวิธีการโยนกล้าอย่างแม่นยำให้ผลผลิตเฉลี่ย 437 กิโลกรัมต่อไร่ สูงกว่าการปลูกโดยวิธีปักดำที่ให้ผลผลิตเฉลี่ย 368 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 19 สำหรับผลการทดสอบวัสดุเพาะกล้าพบว่า การใช้ดินแห้งอย่างเดียว และการใช้ดินแห้งผสมกับแกลบดำ (อัตราส่วน 3:1) เป็นวัสดุเพาะทำให้ต้นข้าวหลังปลูก 30 วัน มีความสูงและจำนวนต้นต่อกอสูงที่สุด เกษตรกรส่วนใหญ่ให้การยอมรับการใช้ดินแห้งเป็นวัสดุเพาะกล้าเนื่องจากหาได้ง่ายในพื้นที่ นอกจากนี้การปลูกข้าวโดยวิธีการโยนกล้าอย่างแม่นยำสามารถลดปริมาณเมล็ดพันธุ์ได้ร้อยละ 75 และช่วยลดเวลาในการทำงานและแรงงานในการปลูกได้ร้อยละ 50 ดังนั้นการปรับใช้เทคโนโลยีการปลูกข้าวด้วยวิธีการโยนอย่างแม่นยำเป็นเทคโนโลยีที่เหมาะสมบนพื้นที่สูงสามารถลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตให้แก่เกษตรกรได้ ทั้งนี้ควรมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีดังกล่าวเพื่อให้เกิดการยอมรับและมีการปรับใช้เพื่อขยายผลไปยังพื้นที่สูงอื่นต่อไป
ขั้นตอนการโยนกล้าอย่างแม่นยำ
1. การเตรียมวัสดุเพาะกล้า ใช้ดินนาบดละเอียด หรือดินผสมแกลบเผาอัตราส่วน 3:1 เป็นวัสดุเพาะกล้าที่มีประสิทธิภาพทำให้ต้นกล้ามีอัตราการแตกกอสูงสุด เกษตรกรสามารถวางแผนการปลูกข้าวได้ล่วงหน้า 15 วัน
2. การเตรียมเมล็ดพันธุ์ข้าว แช่เมล็ดด้วยปุ๋ยชีวภาพ PGPR ก่อนนำไปเพาะกล้า 6-8 ชั่วโมง เพื่อช่วยส่งเสริมให้มีรากที่แข็งแรง อัตราเมล็ดพันธุ์ที่ใช้ประมาณ 7 กิโลกรัมต่อไร่
3. การเพาะกล้าลงในถาดเพาะสำหรับโยนกล้า โดยเติมดินในหลุมถาดเพาะครึ่งหนึ่งแล้วโรยเมล็ดข้าว 3-5 เมล็ดต่อหลุม แล้วโรยดินกลบเมล็ดข้าว หรือการใช้เครื่องโรยเมล็ดเพื่อความสะดวกรวดเร็ว งจากนั้นนำไปรดน้ำให้มีความชื้นชื้นปกคลุมด้วยกระสอบหรือสแลน วางในพื้นที่เรียบ ล้อมป้องกันสัตว์รบกวน รดน้ำทุกวันไม่ให้ดินแห้งจนต้นข้าวอายุ 14 วัน พร้อมที่จะนำไปโยนกล้าได้
4. ทำการเตรียมแปลงนาก่อนนำต้นข้าวไปโยน โดยไถปั่นทำเทือก ให้ระดับน้ำอยู่หน้าผิวดิน โยนกล้าโดยการปล่อยต้นกล้าตกและปักลงดินคล้ายกับการปาเป้า ต้นข้าวจะเริ่มตั้งตัว 3-5 วัน ให้เอาน้ำเข้าแปลงระดับน้ำประมาณ 5 เซนติเมตร และดูแลจัดการในแปลงนาตามปกติ
จุดเด่นที่เป็นข้อดีของการโยนกล้าอย่างแม่นยำ
- ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 เมื่อเปรียบเทียบกับวิธีการปลูกแบบปักดำ
- ประหยัดเมล็ดพันธุ์ ใช้เมล็ดพันธุ์น้อยกว่าวิธีการหว่านและการปักดำ ได้ถึงร้อยละ 75
- ลดต้นทุน ลดการใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัดศัตรูข้าว และลดเวลาในการปลูกได้ร้อยละ 50 เมื่อเปรียบเทียบกับวิธีการปักดำ
- ควบคุมวัชพืช สามารถควบคุมและลดปริมาณวัชพืช และข้าววัชพืชได้ดี
-
3,000.00 บาท
สถานที่ | พื้นที่ |
---|
ไม่ได้ขอขึ้นทะเบียน
-
-
สิทธิ์ | ชื่อ-นามสกุล | หน่วยงาน | เบอร์โทร |
---|
-
จำนวนผู้เข้าชม: 33